การเส้นไหมย้อมสีธรรมชาติ ได้คุณภาพนั้นขึ้นอยู่กับขั้นตอนการย้อม อุณหภูมิที่ไช้ย้อมหรือความร้อน จำนวนเส้นไหมที่ได้สัดส่วนกับน้ำสี เส้นไหมต้องมีคุณภาพดีด้วย สีไม่ตกและสีไม่เปลี่ยนง่าย ภายหลังการใช้งานหรือสวมใส่ ดังนั้น การย้อมเส้นไหมจึงเป็นขั้นตอนการทอผ้าไหม ที่สำคัญที่สุด เพื่อที่จะได้ผลิตภัณฑ์ผ้าไหมสีธรรมชาติของไทยที่ได้มาตรฐานอุตสาหกรรม ซึ่งมีรายละเอียดดังต่อไปนี้ 1. การเตรียมทำความสะอาดเส้นไหม เส้นไหม จะมีขี้ผึ้งเกาะอยู่ทำความสะอาดโดยการต้มเส้นไหมในน้ำเปล่าเพื่อละลายขี้ผึ้ง โดยสังเกตดูว่าจากเส้นไหมสีเหลืองจะเปลี่ยนเป็นไหมสีเหลืองอ่อน ยกหม้อลงแช่ไหมต่อไปทิ้งไว้ให้เย็น ซักให้สะอาดบิดให้หมาดกระตุกให้ตึง 2 - 3 ครั้ง เตรียมนำไปย้อม ถ้ายังไม่ย้อมให้นำไปผึ่งให้แห้งเก็บไว้อย่าให้ โดนฝุ่น 2. ขั้นตอนการย้อม การใช้อุปกรณ์ในการย้อมผ้านั้นหม้อย้อมควรใช้หม้อสแตนเลส หม้อเคลือบ หรือกระทะใบบัว ไม่ควรใช้หม้ออะลูมิเนียม และควรเลือกขนาดหม้อให้เหมาะสมกับการย้อมผ้า หรือเส้นด้ายกับไม้กวนผ้า โดยไม้ควรมีขนาดใหญ่พอที่จะรับน้ำหนักเส้นด้ายเส้นเปียกในหม้อย้อมได้กะละมังหรือถังพลาสติกสำหรับล้างผ้าหรือเส้นด้ายก่อนย้อมและหลังย้อม เตาไฟจะเป็นเตาฟืนหรือเตาแก๊สก็ได้ โดยมีขั้นตอนดังนี้ 2.1 เตรียมวัตถุดิบ เช่น เปลือก เนื้อ แก่น ราก กิ่ง หรือใบไม้ทุกชนิดควรสับให้ละเอียด ผล เมล็ด หรือเหง้าใต้ดิน หรือครั่ง ต้องนำมาตำให้ละเอียดจากนั้นนำมาใส่ในหม้อย้อมเติมน้ำให้ท่วมวัตถุดิบและกะให้น้ำท่วมผ้าหรือเส้นด้ายด้วยในตอนย้อม แช่น้ำทิ้งไว้ 1 คืน จะช่วยทำให้การสกัดสีได้ง่ายขึ้น พืชสดให้ใช้น้ำหนักประมาณ 4 เท่า ถ้าเป็นพืชแห้งใช้ประมาณ 2 เท่าของน้ำหนักผ้าหรือเส้นด้าย 2.2 การเตรียมน้ำย้อม จากนั้นนำมาต้มให้เดือดประมาณ 1 ชั่วโมง หรือสังเกตดูว่าน้ำสีในหม้อย้อมเข้มข้นได้ที่แล้ว ก็ให้กรองเอาแต่น้ำสีเพื่อไปใช้ย้อมผ้า ขั้นตอนนี้ถ้าต้องการใส่สารประกอบในการย้อมผ้า ก่อนการย้อมทำโดยการเลือกสารประกอบในการย้อมผ้าที่ต้องการใช้ เช่น เกลือแกง สารส้มป่น น้ำด่าง น้ำกรดจากพืชที่มีรสเปรี้ยว พืชที่ให้สารแทนนินในปริมาณที่กำหนด (ประมาณ 0.25 - 3 เปอร์เซ็นต์ / น้ำหนักผ้าหรือเส้นด้าย) ใส่ในน้ำสะอาดอุ่นให้พอร้อน คนให้ละลายนำผ้าหรือเส้นด้ายที่ทำความสะอาดแล้วต้มในน้ำเดือดต่อไปประมาณ 30 นาที นำมาบิดให้หมาดกระตุกให้ตึง 2-3 ครั้ง นำลงไปย้อมในหม้อสีต่อไป 2.3 การย้อม ให้นำน้ำสีที่กรองเรียบร้อยไปต้มอีกครั้งหนึ่งอุณหภูมิประมาณ 70 -100 องศาเซลเซียส ขั้นตอนนี้ถ้าต้องการใส่สารประกอบในการย้อมผ้าพร้อมกับการย้อมให้เลือกสารประกอบในการย้อมผ้าที่ต้องการใช้ เช่น เกลือแกง สารส้มป่น น้ำด่าง น้ำกรดจากพืช ที่มีรสเปรี้ยว พืชที่ให้สารแทนนิน วิธีทำนำพืชไปต้มในน้ำเปล่า 30 นาทีก่อนแล้วจึงกรองนำน้ำมาใช้ในปริมาณที่กำหนดใส่ลงในหม้อสีย้อมผ้า คนให้ละลายเข้ากับน้ำสีย้อมผ้าจากนั้นให้นำผ้า หรือเส้นด้ายที่ทำความสะอาดเรียบร้อยแล้ว (ควรแช่น้ำให้เปียก แล้วบิดให้หมาดก่อนย้อมทุกครั้ง เพราะจะทำให้เส้นด้ายสามารถดูดสีน้ำย้อมได้ดีและเร็วขึ้น และทำให้สีติดที่เส้นใยได้ง่าย) ใส่ลงไปต้มนานประมาณ 1 ชั่วโมง หรือสังเกตดูว่าสีติดที่ผ้าหรือเส้นด้ายเข้มอย่างที่เราต้องการ แต่คอยหมั่นกลับผ้าบ่อยๆ เพื่อให้สีซึมเรียบสม่ำเสมอและคอยยกให้ผ้าโดนอากาศ (ออกซิเจน) จากนั้นยกหม้อ ลงแช่ทิ้งไว้ให้เย็น พืชบางอย่างแช่ทิ้งไว้ 1 คืน จะช่วยให้สีติดดีขึ้น ถ้าต้องการใส่สารประกอบใน การย้อมผ้าหลังย้อมให้ละลายสารประกอบในการย้อมผ้าที่ต้องการ เช่น น้ำสารส้ม น้ำโคลน น้ำสนิม น้ำปูนขาว น้ำผลมะเกลือ ตามปริมาณที่กำหนด ถ้าเป็นสารเคมีควรละลายในน้ำอุ่นก่อนเพื่อละลายได้ดีขึ้น นำผ้าที่ผ่านการย้อมสีบิดให้หมาดกระตุก 2 - 3 ครั้ง จึงนำมาขยำในน้ำสารประกอบใน การย้อมผ้าที่เตรียมไว้ เวลาใช้ขึ้นอยู่กับว่าต้องการสีเข้มหรือสีจาง ประมาณ 15 - 30 นาที (สารประกอบในการย้อมผ้าเคมี) แต่ถ้าเป็นแทนนินจากพืชจะใช้เวลาน้อย เช่น การย้อมฝางแล้วนำมาย้อมต่อในน้ำผลมะเกลือจะใช้เวลาประมาณ 30 วินาที จะเปลี่ยนจากสีชมพูเป็นสีบานเย็นนานกว่านี้จะเป็นสีมืด จากนั้นนำไปบิดให้หมาดกระตุก 2 - 3 ครั้ง ผึ่งให้แห้งจากนั้นนำผ้ามาซักในน้ำสะอาดจนน้ำใสแล้วนำไปสะบัดโดยใช้แขนสองข้างดึงเส้นด้ายแล้วกระตุก 2 - 3 ครั้งนำไปตากในที่ร่มหรือกลางแดด 2.4 การย้อมซ้ำ ถ้าสีที่ย้อมเสร็จแล้วยังได้สีที่จางหรือมีรอยด่างเนื่องจากสีติดไม่เสมอกันก็สามารถแก้ไขได้โดยนำไปย้อมซ้ำสีเดิม ก็จะได้สีที่เข้มและมีความคงทนมากขึ้นหรือจะเปลี่ยน เป็นสีอื่นย้อมทับกันก็ได้จะให้สีใหม่ที่แปลกตา ในการย้อมผ้าแต่ละครั้ง ควรจดบันทึกข้อมูลและเก็บตัวอย่างผ้าไว้ทุกครั้งเพื่อนำมา ใช้ให้เป็นประโยชน์ในครั้งต่อไปซึ่งเมื่อได้ผ้าที่ต้องการแล้วสามารถนำไปทดสอบหาความทนต่อแสงอย่างง่ายๆด้วยการตัดตัวอย่างผ้ามาชิ้นเล็กๆนำวัสดุทึบแสงมาปิดที่ผ้าตัวอย่างครึ่งหนึ่งแล้วนำไปวางตากแดด 7 วัน นำผ้าที่โดนแสงมาเปรียบเทียบดูกับผ้าที่ไม่โดนแสง ถ้าผ้าที่โดนแดดสีซีดน้อยมากหรือแทบสังเกตไม่ออก แสดงว่าสีที่ได้จากต้นไม้ชนิดและวิธีการย้อมอย่างนี้ใช้ได้ แต่ถ้าสีซีดมากแสดงว่าต้นไม้หรือวิธีการย้อมไม่เหมาะสม ต้องทดลองและปรับปรุงให้มีคุณภาพอย่างที่ต้องการต่อไป 2.5 การทดสอบความคงทนต่อแสงของสี ตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมสีธรรมชาติ ที่จะมีความคงทนนั้น คุณภาพของสีที่ย้อมต้องมาเป็นอันดับแรก เพราะนอกจากจะได้สีเส้นไหมที่มี สีสวยตามต้องการแล้ว เส้นไหมที่ได้ต้องมีคุณภาพดีด้วย ภายหลังการใช้งานเมื่อทอเป็นผืนผ้าไหมหรือสวมใส่สีไม่ตกและสีไม่เปลี่ยนง่าย วิธีการทดสอบความคงทนต่อแสงของสี ตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมนั้น จะดูจากความคงทนของสีต่อการซักและต่อแสงที่ระดับ 1 แสดงว่าคุณภาพต่ำมาก ที่ระดับสูงขึ้น เช่น ที่ระดับ 5 คุณภาพดี สีไม่เปลี่ยนหรือเปลี่ยนแปลงน้อยมากและไม่ตกติดผ้าอื่น เมื่อทดสอบวางชิ้นผ้าทดสอบภายใต้แสงซีนอนตริกเป็นเวลาตั้งแต่ 5 - 40 ชั่วโมงแล้วเปรียบเทียบการเปลี่ยนแปลงของสีกับผ้ามาตรฐาน ผ้าที่มีสีเปลี่ยนแปลงเท่ากับผ้าสีมาตรฐานระดับใดประเมินได้ว่ามีความคงทนระดับนั้นๆ เช่น สีซีดเท่ากับสีมาตรฐาน 3 จะบอกได้ว่ามีความคงทนต่อแสงเท่ากับระดับ 3 ความหมาย ค่าระดับความคงทนของแสง ระดับ 1 คุณภาพต่ำมาก (very poor) ระดับ 2 คุณภาพต่ำ (poor) ระดับ 3 คุณภาพปานกลาง (fair) ระดับ 4 คุณภาพดีปานกลาง (fair good) ระดับ 5 คุณภาพดี (good) ระดับ 6 คุณภาพดีมาก (very good) ระดับ 7 คุณภาพดีที่สุด (excellent) ระดับ 8 คุณภาพดีเลิศ (superative) การย้อมเส้นไหมสีธรรมชาติตามวิถีชาวบ้าน ปัจจุบันในชุมชนต่างๆ แถบภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีการผลิตหรือทอผ้าไหมจำนวนมาก การย้อมเส้นไหมเป็นขั้นตอนหนึ่งในกระบวนการทอผ้าไหม การย้อมเส้นไหม เป็นงานที่ต้องใช้แรงกายมากพอสมควร เช่น การยกขณะย้อมต้องกลับเส้นไหมไปมา เพื่อให้เส้นไหมได้ความร้อนทั่วถึงสม่ำเสมอ เป็นการป้องกันการย้อมสีติดไม่สม่ำเสมอเส้นไหมมีสีด่าง ถือเป็นงานหนักสำหรับแม่บ้านวัยกลางคน เพราะสาเหตุนี้ สีบรรจุซองที่ขายทั่วไป จึงเป็นที่นิยมของชาวบ้านนำมาย้อมเส้นไหมแทนสีธรรมชาติ ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ สีอาจเสื่อมคุณภาพ สีหมดอายุ ไม่มีเขียนบอกไว้หน้าซอง ไม่บอกสัดส่วนหรือกรรมวิธีผสมสีโดยละเอียดประกอบกับชาวบ้านไม่มีความรู้การผสมสีเพียงพอ การย้อมสีเส้นไหมและทอเป็นผืนผ้าไหม แต่ละชิ้นต้องใช้เวลาหลายวันถ้าประสบปัญหา สีตกสีซีดจะทำให้ผลิตภัณฑ์ผ้าไหมด้อยลงทันที ถ้ามีการควบคุมตั้งแต่การย้อมสีมีการเลือกใช้สีที่มีมาตรฐานมีกรรมวิธีทำกระบวนการหลังย้อม ปัญหาสีตกก็จะไม่เกิดขึ้น เพราะฉะนั้นขั้นตอน การย้อมสีเส้นไหมจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งที่จะต้องกระทำอย่างมีคุณภาพ จากการศึกษาปัญหาการย้อมเส้นไหม ตามวิถีของชาวบ้าน สรุปประเด็นได้ดังนี้ 1. ปัญหาควบคุมสภาวการณ์ย้อม การย้อมไม่ว่าจะเป็นสีอ่อนหรือสีเข้มก็ตาม จะต้องใช้สภาวะของอุณหภูมิและเวลาตามที่กำหนด เมื่อเริ่มย้อมต้องเริ่มที่อุณหภูมิต่ำก่อน แล้วค่อยเริ่มสูงขึ้นตามที่กำหนด 2. ปัญหาสารเคมีมีราคาค่อนข้างแพง เนื่องจากการซื้อขายมีปริมาณน้อยทำให้ต้นทุนการผลิตสูง 3. การทำให้นุ่มด้วยเอนไซม์ (Enzyme) การฟอกกาวด้วยเอนไซม์นั้น เนื่องจากเอนไซม์ค่อนข้างมีราคาแพง ชาวบ้านต้องใช้ทุนสูงในการซื้อทำให้ผ้าไหมที่ชาวบ้านทอออกมา มีเนื้อแข็งกระด้าง เนื้อผ้าสัมผัสไม่นุ่ม 4. ปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อม เนื่องจากการปล่อยทิ้งน้ำเสีย ได้รับการแก้ไขโดยมีท่อระบายน้ำทิ้งไปรวมไว้ที่บ่อพัก ยังมีผลต่อต้นไม้ใหญ่น้อยบริเวณใกล้เคียง ดินถูกทำลาย จะเห็นว่า การย้อมเส้นไหมตามวิถีที่ชาวบ้านทั่วไปได้ปฏิบัติอยู่ ส่วนใหญ่จะไม่มีการทดสอบคุณภาพสีของเส้นไหม และไม่มีการกำหนดอุณหภูมิของน้ำต้มสี ไม่มีการแต่งผ้าไหมให้นุ่ม สีธรรมชาติ ยังเป็นปัญหากับผู้ผลิตผ้าไหมสีธรรมชาติ หากมีการเพิ่มความรู้ ทักษะ เทคนิคแก่ชาวบ้านเกี่ยวกับการย้อมสีเส้นไหมจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ที่จะส่งผลต่อการทอผ้าไหมสีธรรมชาติที่ได้คุณภาพ เพราะการทอผ้าไหมลวดลายต่าง ๆ ให้สวยงามนั้น ชาวบ้านจะมีความชำนาญมีทักษะการทอผ้าไหมอยู่แล้ว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น